วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ชอบกดไลค์ ใช่กดแชร์ แห่ติดคุก ? : คลิปรายการ มติทอล์ค 11 ธค 58

ชอบกดไลค์ ใช่กดแชร์ แห่เข้าคุก ?? : มุมมองและความเห็นทางกฎหมาย โดย คณาธิป ทองรวีวงศ์ (บทความ)




ชอบกดไลค์ ใช่กดแชร์  แห่เข้าคุก  ??  :  มุมมองและความเห็นทางกฎหมาย

                                                                                                                 โดย คณาธิป ทองรวีวงศ์ 

 

ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟสบุค ยูทูป ไอจี  มีคุณสมบัติอันหนึ่งที่ผู้ใช้งานสามารถกด ไลค์  ซึ่งแปลตามตัวก็แปลว่าชื่นชอบ หรือตามเครื่องหมาย อย่างเฟสบุคและยูทูปเป็นยกหัวนิ้วโป้ง หรือ ไอจีเป็นรูปหัวใจ  ก็สื่อแสดงความหมายเชิงบวกโดยนัยว่าชอบ เช่นกัน  การกดชื่นชอบนี้ นำมาสู่ปัญหากฎหมายว่า จะทำให้ผู้กระทำการกดไลค์ เข้าข่ายกระทำผิดตามกฎหมายอย่างไรหรือไม่

บทความนี้นำเสนอความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน   เบื้องต้นเลยเห็นว่า 

  คงไม่สามารถสรุปหรือฟันธงลงไปได้ ว่า กดไลค์  ผิด หรือ  ไม่ผิด 
  ทำไม ?   

ไม่มีกฎหมายระบุถึงสถานะหรือนิยามของการ กดไลค์ ไว้โดยเฉพาะ    ต้องมีการตีความกฎหมายที่ใช้อยู่ซึ่ง ณ วันที่เขียนนี้ยังไม่มีแนวคำพิพากษาศาลที่ตีความการ กดไลค์ เอาไว้    

                ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดหรือตั้งข้อหา ในชั้นนี้  ก็ยังไม่แน่เสมอไปว่าจะมีความผิด  ต้องดูว่าศาลจะตีความกฎหมายที่มีอยู่อย่างไรเสียก่อน 

ผมขอตั้งข้อสังเกตหรือคำถามเบื้องต้น 4 ข้อก่อน    และจะได้นำเสนอความเห็นทางกฎหมายต่อไป 



     

1.   ด ไลค์ ข้อมูลอะไร ?

ในกรณีของเฟสบุค   เราเอาจกดไลค์  ข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง
- เช่น ไลค์ภาพถ่ายที่มีคนโพสต์   ไลค์ภาพกราฟฟิกหรืออินโฟกราฟฟิกที่มีคนโพสต์   ไลค์การโพสต์ข้อความ   หรือไลค์ข้อความ คอมเมนต์   
นอกจากนี้ เราอาจกดไลค์ หน้าเพจ คือไลค์เพจนั้นโดยรวมๆทั้งหมด  ซึ่งในเพจนั้นอาจประกอบด้วยข้อมูลเฉพาะเจาะจงอีกมากมาย 

.2.ข้อมูลที่กด ไลค์ มันผิดอะไร ?

ข้อมูลที่ถูกไลค์ หรือที่เราไปกดไลค์  มันเป็นข้อมูลที่ผิดกฎหมายอะไร
เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ข้อมูลหรือเนื้อหา (Content) ทางสื่อสังคมออนไลน์ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายได้หลายฉบับและหลายมาตรา  จึงต้องมาตั้งต้นก่อนว่า ข้อมูลนั้น ผิดกฎหมายอะไร 

ถ้าข้อมูลนั้นที่มันปรากฏอยู่ในระบบ  ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายอะไร   ก็ไม่ต้องไปพิจารณาถึงการกดไลค์   ว่าจะผิดหรือไม่ 

ตัวอย่างเช่น  เพื่อนเราไปกินไก่ย่างและมาโพสต์ลงเฟส เราก็ไปกดไลค์    ภาพไก่ย่างที่เพื่อนถ่ายขึ้นมานั้น มันไม่ใช่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายอะไร  ก็ตัดประเด็นว่า การกดไลค์จะผิดกฎหมาย

ถ้าข้อมูลนั้นผิดกฎหมาย  ก็ต้องไล่ดูก่อนว่าผิดอะไร  เช่น

-พรบ คอมฯ  มีฐานความผิดหลักๆที่สำคัญคือ
ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (ม 14 (1)
ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ  ที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน (ม 14 (2)
ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (ม 14 (3)
ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้(ม 14 (4)
ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย (ม 16)

                ตัวอย่าง  เพื่อนในเฟสคนหนึ่งของเรา โพสต์ภาพลามกขึ้นมาให้ใครๆก็เห็นได้    เราเห็นแล้วไปกดไลค์  ก็คือไปกระทำการเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ผิดกฎหมายแล้ว แต่ยังไม่อาจสรุปได้ ณ จุดนี้ว่าผิด ต้องไปดูองค์ประกอบและปัจจัยอื่นดังจะว่ากันต่อไป 

                ตัวอย่าง  เพื่อนในเฟสโพสต์เนื้อหาข้อความกล่าวหาว่าคนๆหนึ่งเป็นคนขี้โกง ซึ่งเป็นเรื่องเท็จ  เราเห็นแล้วไปกดไลค์  ก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่าผิดทันที เพราะเราอาจจะรู้หรือไม่รู้ว่าข้อมูลนั้นเป็นเท็จก็ได้   ต้องดูองค์ประกอบอื่นๆต่อไปอีก

                ข้อมูลที่เราไปกดไลค์ แชร์ อาจไม่ได้ผิดตาม พรบ คอม แต่ผิดตามกฎหมายอื่น หรือเป็นข้อมูลที่ผิดทั้ง พรบคอม และกฎหมายอื่น  เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ดังจะได้กล่าวต่อไป
                 
ผู้สื่อข่าวจากเนชั่น (13 ธค 58)


 3.กดไลค์ เพื่อวัตถุประสงค์อะไร

การกดไลค์ บางคนอาจจะไม่ได้หมายถึงตามตัวอักษรว่า  ชื่นชอบ แต่อาจจะมีวัตถุประสงค์เชิงสังคมต่างๆมากมาย เช่น  กดเพื่อรับรู้ว่าเพื่อนในกลุ่มโพสต์อะไร   เป็นเชิงแสดงว่าเรารับทราบสิ่งที่คุณโพสต์มา แต่เราอาจจะไม่ได้ชอบสิ่งนั้นจริงๆ  เหมือนกับคุยกันกับเพื่อนแล้วเพื่อนก็พูดๆๆไป เราบอกว่า โอเค อือๆ   ฯลฯ 

การกดไลค์ยังอาจส่งผลให้ข้อมูลที่เรากด แพร่กระจายให้เพื่อนคนอื่นในเครือข่ายของเราเห็นด้วย ดังนั้น การที่เรากดไลค์เพื่อต้องการให้เพื่อนคนอื่นเห็นข้อมูล   อยากให้มันเผยแพร่  ก็อาจเป็นวัตถุประสงค์ที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลได้  ในลักษณะเดียวกับการแชร์

การกดไลค์ อาจจะมีวัตถุประสงค์ในลักษณะของการ เตือนตัวเอง หรือ bookmark เอไว้   สำหรับบางเพจ   เช่น เราสนใจดาราคนหนึ่ง อยากจะติดตามความเคลื่อนไหวชีวิตประจำวันของเขา   เหมือนกับการ คั่นหน้า หนังสือที่จะอ่านไว้   ให้รู้ว่ามีดาราคนนี้อีกคนหนึ่งนะ ที่เราจะติดตามความเคลื่อนไหว   หรือกรณีนักข่าว สื่อมวลชน ที่ต้องกดไลค์เพจต่างๆมากมาย  อาจไม่ใช่เพราะว่า ชื่นชอบเพจนั้น แต่เพราะว่า ต้องการ ไลค์ให้ปรากฏในระบบที่ตนมองเห็น  เพื่อการเก็บข้อมูลไปทำข่าวซึ่งเป็นงานตามหน้าที่ 

การกดไลค์อาจเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ เช่น หน้าเพจที่ต้องการให้มียอดไลค์สูงๆ อาจมีการซื้อไลค์  โดยมีผู้รับจ้างกระทำการด้วยวิธีทางเทคนิคหรือการจ้างให้ผู้เล่นโซเชียลมากดไลค์      คนที่กดไลค์เพจในลักษณะแบบนี้อาจเพียงแค่ทำไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ไม่ได้ ชื่นชอบหรือสนใจ เนื้อหาอะไรในเพจนั้นเลย

                วัตถุประสงค์การกดไลค์ เหล่านี้ ควรต้องนำไปประกอบการพิจารณา เจตนา  ดังจะพูดถึงต่อไปด้วย 

4. คนกดไลค์ มี เจตนา หรือไม่  ?



การกระทำความผิดตาม พรบ คอม ก็อยู่ภายใต้หลักความรับผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย นั่นคือต้องดูเจตนาตาม ม 59  ซึ่งมีหลักการว่า 

บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำ โดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมาย บัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณี ที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มี เจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและ ในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการ กระทำนั้น
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะ ถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำ นั้นมิได้

พรบ คอม ม 14 เอาผิดกับผู้ที่กระทำการเกี่ยวกับข้อมูล  คือ 

1.ผู้นำข้อมูลที่มีเนื้อหาความผิด ม 14 เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ 
2. ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลที่มีเนื้อหาความผิด ม 14   (ม 14 (5) 

ดังนั้นเมื่อนำมาตรา 59 มาประกอบ พรบ คอม ม 14 ก็จะต้องดูก่อนว่า การกระทำตาม ม 14 สองอย่างนั้น ผู้กระทำมีเจตนาทางอาญาตาม ม 59 หรือไม่



5.     กดไค์ ผิด พรบคอม หรือไม่ ? : โพสต์ แชร์ ไลค์ 

ถ้าข้อมูลที่เรากดไลค์ เป็นข้อมูลที่ผิด พรบคอมฯ โดยเฉพาะ มาตรา 14  ก็มาดูกันโดยขอแยกการกระทำต่างๆออกมาก่อน เพราะผลทางกฎหมายจะแตกต่างกัน  


โพสต์  / อัพโหลด

  เป็นการนำข้อมูลที่ไม่มีอยู่ในระบบมาก่อน เข้ามาสู่ระบบ เช่น ถ่ายภาพนำมาโพสต์    สแกนเอกสารอะไรสักฉบับและนำมาโพสต์    พิมพ์ข้อความเรื่องราวอะไรขึ้นมา แล้วมาโพสต์  กรณีแบบนี้เข้าองค์ประกอบ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ดังนั้น    ถ้าข้อมูลนั้นเป็นเนื้อหาที่ ม 14 กำหนดว่าผิด    ผู้กระทำก็เข้าข่ายความผิด  อันนี้ไม่มีปัญหาในการตีความเท่าไร  เพราะในแง่ของเจตนา การโพสต์ ก็แสดงถึงความตั้งใจและเจตนาในการกระทำอยู่แล้ว 
 
แต่แค่มีเจตนาเผยแพร่ ก็ยังไม่พอ   จะต้องดูเจตนาว่ารู้ถึงองค์ประกอบความผิดหรือไม่   สำหรับ  การกระทำความผิดม 14  (1) นั้น   องค์ประกอบความผิดที่สำคัญคือ  ข้อมูลปลอมหรือเท็จ

 ดังนั้น ต้องดูว่า  ผู้กระทำ รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ว่าข้อมูลนั้นมันเป็นเท็จ   ถ้าคนโพสต์ไม่รู้ ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด   

 

แชร์
 
เป็นการที่มีข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว  เช่น กรณีเฟสบุค ภาพหรือข้อความในเฟสที่มีคนโพสต์ไว้  แล้วเราไปกด แชร์ ซึ่งส่งผลให้มันเผยแพร่ไปตามเงื่อนไขการตั้งค่าเฟสบุคของเรา  เช่น เราอาจตั้งค่าว่าแชร์บนเพจ หรือหน้าวอลของเฟสเรา แชร์กับเพื่อนทุกคน แชร์เฉพาะในกลุ่มนี้ ฯลฯ  

กรณีการแชร์นี้ ตาม พรบ คอมฯ มีองค์ประกอบความผิดที่เกี่ยวข้องคือ ม 14 (5) ที่เอาผิดสำหรับการ    

เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)   
ก็คือ ส่งต่อโดยรู้ว่าข้อมูลนั้น ปลอม เท็จ ฯลฯ ลามก เป็นต้น 

จากองค์ประกอบ เห็นได้ว่า การแชร์ เป็นการเผยแพร่ส่งต่อข้อมูล  คนที่กดแชร์ โดยทั่วไปก็คือมีเจตนาในการเผยแพร่ส่งต่อ   
 แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ทันที ว่าคนแชร์ผิด  ต้องดูต่อไปว่า คนแชร์นั้น รู้หรือเปล่าว่าข้อมูลที่แชร์นั้น ปลอม หรือเท็จ หรือลามก  เช่น 

-ถ้ามีรูปคนแก้ผ้าส่งมาแล้วเราแชร์ต่อ  จะบอกไม่รู้ว่ามันลามก ก็คงอ้างได้ยาก
-ถ้ามีข้อมูลเรื่องราวกล่าวหาใครหรือองค์กรอะไรสักอย่าง แล้วเราแชร์ต่อไป  จะสรุปทันทีว่าคนแชร์นั้นรู้ว่ามันเป็นเรื่องเท็จ ก็คงยากเช่นกัน 

                มันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องมีการพิสูจน์ในคดีว่า ผู้แชร์ รู้หรือไม่รู้ว่าข้อมูลนั้นมันผิดกฎหมาย 

                สิ่งที่ขอย้ำก็คือ พรบ คอม มาตรา 14 ไม่ได้เอาผิดกรณีประมาท  นั่นคือ  ถ้าเราข้อมูลแล้วแชร์ไปโดยไม่ได้กลั่นกรองก่อนว่า ข้อมูลที่เห็นในเฟสนั้นมันปลอมหรือมันเท็จ   อาจแสดงว่าเราประมาทเลินเล่อได้   แต่ก็ไม่น่าถึงขนาดว่า เรามีเจตนา  

             ไลค์
กดไลค์เป็นกรณีซับซ้อนกว่า อัพโหลด และ แชร์ 

ในความหมายทั่วไป ถ้าเรากดไลค์เพื่อแสดงว่าเรา เห็นด้วย กับข้อมูลที่โพสต์นั้น  เราจะต้องผิดไปด้วยหรือไม่ ?

เปรียบเทียบกับการทำผิดในทางกายภาพ
ถ้ามีคนๆหนึ่งเป็นโจรไปขโมยของ  แล้วเราไปแสดงความ เห็นด้วย กับการกระทำของโจร
จะว่าเราต้องรับผิดเหมือนโจรคนนั้น ??
ตามกฎหมายอาญาทั่วไป  เราจะผิดเมื่อเป็น ตัวการ ร่วมกระทำกับโจร หรือ สนับสนุน เช่นให้การอำนวยความสะดวกแก่โจรในการลักทรัพย์นั้น 
เพียงแค่ เราเห็นด้วย กับการกระทำของโจร แต่ไม่ถึงขนาดไปร่วมเป็นตัวการหรือสนับสนุน  ก็จะมาเอาผิดคนเพียงแค่เห็นด้วย ยังไม่ได้


ในโลกออนไลน์ การกระทำผิด เกิดขึ้นในลักษณะออนไลน์

   ประเด็นแรกคือ การกดไลค์ เป็นการสนับสนุน ผู้นำเข้าสู่ระบบหรือผู้เผยแพร่ทีแรกหรือไม่
  ถ้าเอาหลักการสนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86  มาจับ จะเห็นได้ว่า  ต้องเป็นการสนับสนุนที่เกิดขึ้น "ก่อนหรือขณะกระทำความผิด" เท่านั้น
การกดไลค์นั้น เป็นการไปกระทำ ต่อข้อมูลผิดกฎหมายที่มันเกิดขึ้นแล้ว จึงไม่เข้า ม 86

 ต่อไปก็มาดูองค์ประกอบของ ความผิดตาม พรบ คอมฯ

กดไลค์เป็นการที่เราเห็นข้อมูลอะไรสักอย่างที่เผยแพร่ในระบบคอมพิวเตอร์หรือในโลกโซเชียลอยู่แล้ว  และเราไปมีปฎิกิริยากับมัน ตามที่ผู้พัฒนาเครือข่ายสังคมนั้นเปิดช่องให้เราทำ  

ตาม พรบ คอม เอาผิดกับ การกระทำ หลักๆ คือ นำเข้าสู่ระบบ และ  เผยแพร่ส่งต่อ
 
การกดไลค์ของเรานั้น ผมเห็นว่า ไม่ใช่การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

เพราะ ข้อมูลนั้นมันอยู่ในระบบอยู่แล้ว  แต่ไปดูว่า เป็นการ เผยแพร่หรือส่งต่อ ตาม 14 (5)  หรือไม่   

ในส่วนนี้ก็จะตั้งหลักวิเคราะห์เฉพาะ ม 14 (5) 


หากเปรียบเทียบกับ แชร์ 
คนเห็นข้อมูลที่ผิดกฎหมาย  และ แชร์    ให้โลกรู้   แสดงได้ว่า มีเจตนาเผยแพร่
แต่ คนที่เห็นข้อมูลที่ผิดกฎหมาย และ ไลค์ เพื่อแสดงว่า เราเห็นด้วยกับข้อมูลนั้น จะมีเจตนา เหมือนกับ คนที่ แชร์ หรือไม่ ?
 
ปัญหาคือ  
ผลที่ตามมาจากการกดไลค์ อาจเกิดผลคล้ายกับการ แชร์   เนื่องจากผู้ให้บริการ เช่น เฟสบุค ทำให้ สิ่งที่เราไลค์ ไปปรากฏในที่ต่างๆได้  เช่น ไปปรากฏใน นิวฟีด ของเพื่อนในเฟสของเรา 

 จากผลเช่นนี้  จึงเกิดมุมมองต่างๆ เช่น  

-บางคนอาจสรุปไปว่า การกดไลค์ เป็นการ เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูล คล้ายกับ แชร์

-ผมเห็นว่า การกดไลค์ น่าจะต้องดูรายละเอียดในแต่ละกรณี 
  เพราะ  การกดไลค์ อาจไม่ได้ทำให้มันแพร่กระจายทุกๆครั้งหรือแพร่ไปในกลุ่มเพื่อนทุกๆคนของเรา  เนื่องจากคนกดไลค์ ไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดได้ว่า การกดไลค์ของเรา ให้ไปปรากฏในขอบเขตใดได้บ้าง   การกดไลค์ ไม่เหมือนกับการ แทก” (Tag) ที่เราอาจ แทก ภาพระบุตัวให้เพื่อนคนนั้น คนนี้ 

ดังนั้น ปัญหามันจะซับซ้อนขึ้นอีก ถ้ามีข้อเท็จจริงว่า 

  การกดไลค์ แต่ละข้อมูล / แต่ละครั้ง  ส่งผลให้ข้อมูลนั้นแพร่กระจายในขอบเขตที่แตกต่างกัน  // หรือ  การกดไลค์แต่ละข้อมูล /แต่ละครั้ง ส่งผลให้ข้อมูลนั้นแพร่หรือไม่แพร่ก็ได้ 

ซึ่งตรงนี้  ทำให้ทางกฎหมาย  เราไม่สามารถฟันธงสำหรับการกดไลค์เป็นการทั่วไปในทุกกรณี หรือสรุปว่า การกดไลค์ทุกๆครั้ง ย่อมเป็นการ เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูล  อันเป็นความผิดเสมอไป 

ดังนั้น  ถ้าเป็นคดีก็คงต้องให้นักเทคนิคมาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญว่า ในคดีนั้น กรณีการกดครั้งนั้นๆ   ส่งผลให้ข้อมูลที่ผิดกฎหมายนั้น เผยแพร่ หรือไม่ อย่างไร 

สามารถแจกแจงตามสถานการณ์ต่างๆ ดังนี้ 

---ถ้ากรณีนั้น ข้อเท็จจริงในทางเทคนิคแสดงว่า การกดไลค์ดังกล่าวไม่ทำให้ข้อมูลนั้นเผยแพร่ไปยังเพื่อนร่วมเครือข่ายเลย    ก็ไม่มีการ เผยแพร่หรือส่งต่อเกิดขึ้น  แล้วเช่นนี้ จะเป็นความผิด เผยแพร่ส่งต่อได้อย่างไร

--ถ้ากรณีนั้น ข้อเท็จจริงในทางเทคนิคแสดงว่า การกดไลค์ดังกล่าวส่งผลให้ข้อมูลกระจายต่อไปยังเพื่อนบางคน  ก็แสดงว่ามีองค์ประกอบการ เผยแพร่ส่งต่อ    

*** แต่ก็ต้องมาดูว่า คนกดไลค์  มีเจตนาหรือไม่  รู้ถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่ 

องค์ประกอบความผิดนี้คือ เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูล…”

                ถ้าคนกดไลค์  ไม่รู้ว่าการกระทำของตนจะทำให้เกิดการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลได้  ก็จะส่งผลว่า ไม่มีเจตนาทางอาญา  คือไม่มีเจตนาเผยแพร่ส่งต่อนั่นเอง 

                (ในทางคดีอาจต้องนำสืบกันว่า คนไลค์ เล่นเฟสมานานหรือยัง เคยรู้มั๊ยว่ากดไลค์แล้วเพื่อนเห็นหรือไม่ ฯลฯ เพื่อประกอบการดูเจตนาว่าเขารู้หรือไม่รู้ หรืออาจมีข้อเท็จจริงแสดงว่า ผู้กดไลค์ย่อมเล็งเห็นว่ามันจะไปเผยแพร่หรือไม่  

                --ถ้ากรณีนั้นๆ ข้อเท็จจริงในทางเทคนิคแสดงว่า การกดไลค์ดังกล่าวส่งผลให้ข้อมูลกระจายต่อไปยังเพื่อนบางคน  ก็แสดงว่ามีองค์ประกอบการ เผยแพร่ส่งต่อ     และ ผู้กระทำ รู้ว่าการกดไลค์ของตนจะทำให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลได้     ถ้าแบบนนี้ ผู้กระทำก็มีเจตนากระทำทางอาญาแล้ว 

***แต่ก็ต้องมาดูองค์ประกอบความผิดฐานเผยแพร่ฯ อีกทีหนึ่งคือ เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)   

 นั่นคือ ผู้กระทำต้องรู้ด้วยว่าข้อมูลนั้นมันปลอม เท็จ ฯลฯ 

  ถ้ามีเจตนาเผยแพร่ แต่ไม่รู้ว่าข้อมูลนั้นมันปลอมหรือเท็จ ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดอีก 

ตัวอย่าง    นาย A เห็นข้อความและภาพที่เพื่อนโพสต์ในเฟส ว่ามีมนุษย์ต่างดาวมาบุกโลก   ตัวนาย A ก็รู้อยู่ว่าเป็นภาพตัดต่อและเรื่องราวอันเป็นเท็จ   ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก  แต่ นาย A  ไปกดไลค์  เพื่ออยากให้ภาพนั้นกระจายไปยังเพื่อนๆของตัวเองด้วย   แบบนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า การกดไลค์  เข้าข่ายความผิดตาม พรบคอม 

ตัวอย่าง  นาย B   เห็นเพื่อนโพสต์ข้อความกล่าวหากันอะไรสักเรื่องในเฟส  ตัวเองไม่รู้ว่ามันจริงหรือเท็จ  แต่เห็นเพื่อนโพสต์ก็กดไลค์ๆไป ให้เพื่อนรู้ว่าเราดูแล้ว  /  B ก็เป็นผู้เล่นเฟสโดยไม่รู้ถึงการทำงานของเฟสบุคว่าการกดไลค์มันจะแพร่กระจายให้เพื่อนอื่นๆเห็นด้วย    รู้แค่ว่ามันทำให้เพื่อนผู้โพสต์เห็นว่าเขารับรู้ถึงโพสต์นั้นแล้ว    /  และข้อเท็จจริงทางเทคนิคชี้ให้เห็นว่า กรณีนี้ การกดไลค์ของ B ทำให้ข้อความนั้นปรากฏต่อเพื่อนๆในเฟสหลายคน  /  แบบนี้เห็นว่า  การกระทำของ B  ไม่มีเจตนาเผยแพร่   และไม่เข้าองค์ประกอบของการ เผยแพร่ส่งต่อตามมาตรา 14 (5)  เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นข้อมูลเท็จ 


ทีนี้ลองกลับมาดู   วัตถุประสงค์การกดไลค์ + ข้อมูลที่กดไลค์    อย่างที่พูดไว้ในหัวข้อก่อนหน้า 

-กดไลค์หน้าเพจทั้งหน้า   ในหน้านั้นอาจจะมีข้อมูลอะไรอยู่ก็ได้   เช่น  ไปกดไลค์เพจอันหนึ่ง ณ วันที่กดไลค์เพจนั้น เห็นว่าเป็นเพจขายเครื่องสำอางเกาหลี  อยากจะอัพเดทดูว่ามีครีมอะไรน่าซื้อมั่ง    ในเพจก็มีแต่เรื่องเครื่องสำอางต่างๆ   ต่อมาวันหนึ่ง เจ้าของเพจมาโพสต์เรื่องหมิ่นประมาทคนอื่นอันเป็นเท็จ  แน่นอนว่า เจ้าของเพจมีความผิด พรบ คอม เพราะนำข้อความนั้นเข้าสู่ระบบ แต่คนที่กดไลค์เพจนี้ล่ะ

เห็นว่า คนกดไลค์เพจ  ไม่ได้มีเจตนาไปร่วมรับรองการโพสต์ข้อมูลที่อาจจะมีขึ้นในภายหน้าด้วย      แล้วก็ไม่ได้มีเจตนาไปเผยแพร่ตัวโพสต์ข้อมูลที่มีปัญหาเป็นการเฉพาะเจาะจง

แล้วถ้าไปกดไลค์เพจ ซึ่งมีข้อมูลอะไรบางอย่างผิดกฎหมายอยู่ เช่น  ณ วันที่กดไลค์เพจนั้น ในเพจมีข้อมูลที่เจ้าของเพจโพสต์ไว้อันเป็นเท็จ  ก็ต้องดูว่าการที่เรากดไลค์ทั้งหน้าเพจนั้น มันมีเจตนาต้องการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆทั้งหมดหน้าเพจของเขาซึ่งรวมถึงข้อมูลตัวที่ผิดกฎหมายด้วยหรือไม่  ก็คือต้องดูตามหลักที่พูดมาแล้วนั่นเอง   

ถ้าข้อเท็จจริงก็คือเราไม่รู้และเราไม่ได้มีเจตนาเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลเฉพาะเจาะจงอันใดอันหนึ่งที่มันผิดกฎหมายในหน้าเพจนั้น    ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ม 14  

สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ที่กด ไลค์ เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ในความหมายทางสังคมเหมือนการ "ทักทาย"  "รับรู้" หรือตาม "มารยาท"   เห็นเพื่อนโพสต์อะไรก็ กด ไลค์ๆๆ ไป  บางทีกดไปโดยไม่ได้ดูรายละเอียดข้อมูลนั้นด้วยซ้ำ 
เกิดข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่มีความผิดตามพรบคอม ขึ้นมา  
ถ้าปรับกฎหมายว่ากดไลค์แบบนี้เป็นเจตนาด้วย    ก็จะเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนมากมาย   แห่กันเข้าคุกไปหมด  
ผมมองว่า การกดไลค์แบบนี้ ู้กระทำไม่ได้มีเจตนากระทำผิดทางอาญา 
อย่างมากที่สุดก็เป็นการประมาทเลินเล่อ ที่ไม่ได้อ่านข้อมูลให้ดีก่อนกด  ซึ่งการประมาทไม่ได้เป็นความผิดตาม พรบ คอม ฯ 
   



การกดไลค์กับความผิดตามกฎหมายอื่น

ข้อมูลที่มีปัญหา อาจไม่ได้ผิดตาม พรบคอม แต่ไปผิดกฎหมายอื่น (หรืออาจผิดทั้ง 2 กฎหมาย)   ซึ่งก็ต้องดูองค์ประกอบกฎหมายอื่น เช่น

ความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 116

 ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
          (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย
          (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
          (3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ตัวอย่าง  นาย A โพสต์ข้อมูลที่มีลักษณะตาม ม 116  การกระทำของนาย A มีความผิด แล้วคนที่กดไลค์ข้อมูลดังกล่าวจะผิดด้วยหรือไม่ ?

เห็นว่า มาตรา 116 ไม่ได้มีองค์ประกอบ การเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูล อย่างเช่น ม 14 (5) 

  ดังนั้น คนจะผิด ม 116  ก็ต้องเข้าองค์ประกอบ กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน” 

 คือต้องมาตีความว่า การกดไลค์ เป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชนหรือไม่   

ซึ่งก็มีหลักคิดคล้ายคลึงกับกรณีการเผยแพร่ส่งต่อ ตาม พรบ คอม คือต้องดูข้อเท็จจริงและลักษณะการกระทำ
   ถ้ากรณีนั้น การกดไลค์ส่งผลให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลต่อไป ก็อาจเข้าองค์ประกอบ ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนได้   แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูว่า ผู้กดไลค์ มีเจตนาจะทำให้มันปรากฏอย่างนั้นด้วยหรือไม่ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั่นเอง  

เช่น   นาย B เห็นโพสต์ของนาย A ที่เป็นความผิด ม 116 แล้วไปกดไลค์  โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าการกดไลค์ของตนจะทำให้มันไปปรากฎแก่ประชาชน  ก็คือไม่มีเจตนา 

แต่ข้อสังเกตคือ กฎหมายอย่าง ม 116 นี้ ไม่ได้มีองค์ประกอบ ข้อมูลเท็จหรือปลอม  นั่นคือ แม้ว่าเป็นเรื่องจริงแต่หากมีลักษณะตามที่ ม 116 กำหนดไว้ ก็ยังเป็นความผิดได้ 

เช่น นาย C เล่นเฟสและไอจีมานาน รู้ว่าการกดไลค์จะทำให้เผยแพร่ได้ และ ในกรณีนั้นการกดไลค์ข้อมูลที่เป็นความผิด ม 116 ที่นาย A โพสต์ เป็นการทำให้ข้อมูลแพร่กระจายไป  /    แต่ นาย C ไม่รู้ว่าข้อมูลนั้นเป็นเรื่องราวเท็จ  /  ดังนี้   การกระทำของนาย C อาจผิด ม 116 ได้   ซ่ึ่งต่างกับ พรบ คอมที่การเผยแพร่ส่งต่อต้องมีการรู้ว่ามันปลอมหรือเท็จฯ

มีข้อสังเกตที่สำคัญอีกว่า ตามมาตรานี้ ผู้เผยแพร่ข้อมูลอาจต่อสู้อ้างว่าการเผยแพร่ข้อมูลของตนเป็นการ
  แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต   ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาในชั้นศาลว่า ศาลจะเห็นอย่างไรต่อไป 

ความหวาดกลัวการถูกดำเนินคดีจากการ กดไลค์ ทุกวันนี้อาจส่งผลให้หลายคน ไม่กล้าจะกดไลค์อะไร ไม่กล้าเมนต์ แชร์ ข้อมูลออนไลน์    ซึ่งส่งผลต่อการสื่อสารและการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างชัดเจน 

จริงอยู่ว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอาจถูกจำกัดด้วยกฎหมายอื่นได้ แต่กฎหมายอื่นนั้นจะต้องมีน้ำหนักที่เพียงพอ    ประเด็นน่าคิดก็คือ พรบคอมฯ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง มีน้ำหนักเพียงพอแล้วหรือไม่กับการจำกัดเสรีภาพนี้  ?? 


การ follow เพจ หรือ ไอจี ของผู้อื่น  จะผิดหรือไม่ 

การที่เรา follow ซึ่งก็คือการติดตาม  หมายถึงว่า ถ้าเพจหรือไอจีที่เราไป follow นั้นมีข้อมูลอะไรใหม่ๆโพสต์เข้ามา เราก็จะทราบหรือเห็นข้อมูลนั้นด้วย  แบบนี้ เราจะผิดหรือไม่
ถ้าเพจหรือไอจีที่เราไป follow นั้นโพสต์ข้อมูลที่ผิด พรบ คอม ม 14   เราแค่ติดตาม หรือเป็นเพียงผู้รับรู้เฉยๆ แบบนี้เราไม่ได้นำเข้าสู่ระบบ และไม่ได้เผยแพร่หรือส่งต่อ  ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ม 14


สรุป   ผมมองว่า  เราไม่สามารถสรุปเป็นการทั่วไปเลยว่า กดไลค์ ผิด หรือ ไม่ผิด

 
ต้องดูข้อเท็จจริง
 ลักษณะการกระทำ
และเจตนาของผู้กระทำเป็นรายกรณีไป 



 คณาธิป ทองรวีวงศ์  ธค 2558
   
 
     รายการมติทอล์ค        http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1449892137

        คลิปรายการ :   https://www.youtube.com/watch?v=VxnfJ55yQ-Q